วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันออกพรรษา


วันออกพรรษา

วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ คือ เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันออกพรรษาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์ 
     วันออกพรรษา หมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน  ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ 


วันออกพรรษา เรียกว่าอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ทั้งหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน

ประวัติความเป็นมาของวันออกพรรษา

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตุวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดการขัดแย้งกันจนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร)  เมื่อถึงวันออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วปวารณากันในสามลักษณะ คือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี”


การถือปฏิบัติวันออกพรรษาในประเทศไทย
   
วันออกพรรษา เป็นวันปวารณาของพระสงฆ์โดยตรง ที่จะต้องประชุมกันทำปวารณากรรมแทนอุโบสถกรรม สำหรับพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ก็ถือว่าเป็นวันพระสำคัญ มักนิยมไปทำทานรักษาศีลและฟังธรรมเป็นกรณีพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีประเพณีเนื่องด้วยวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเทโว”
 ประเพณีตักบาตรเป็นประเพณีที่ปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล
 1. ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ โดยในหลายที่ยังทำเป็นข้าวต้มลูกโยน มาไว้สำหรับใส่บาตรการตักบาตรเทโวเริ่มมาตั้งแต่ตอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนจึงได้พร้อมใจกันนำภัตตาหารมาถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จนั้นมีจำนวนมาก บางพวกที่อยู่ห่างจึงไม่สามารถใส่อาหารลงในบาตรได้ จึงต้องทำข้าวให้เป็นก้อน แล้วโยนใส่บาตร จนกระทั่งเป็นประเพณีนิยมมาจนถึงปัจจุบัน 
ตักบาตรเทโว หมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษาตามความเชื่อของพระพุทธศาสนิกชนว่าเป็นวันที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา

 “เทโว” ย่อมาจากคำว่า “เทโวโรหนะ” ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก หมายถึง เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิณาณ แล้วทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่างๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นบิตุภูมิของพระองค์ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองคุณพระมารดา ซึ่งหลังจากประสูติพระองค์ได้ 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ 7 หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะ ประชาชน พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น บางวัดก็ทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน 
พิธีทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้งอยู่บนล้อเลื่อนไปช้าๆ นำหน้าพระสงฆ์ พระภิกษุสามเณรถือบาตรเดินตามไปโดยลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำอาหารมาเรียงรายกันอยู่เป็นแถว ตามแนวทางที่รถบุษบกนั้นจะผ่านเพื่อตักบาตร ของที่นิยมใช้ตักบาตรเทโว ซึ่งนอกจากเป็นข้าวปลาอาหารทั่วๆ ไปแล้วยังมีข้าวต้มมัดใต้และข้าวต้มลูกโยนอีกด้วย

การที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่เพียงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เนื่องจากมีพระประสงค์จะให้พระพุทธมารดาได้บรรลุโลกุตรธรรมอันเป็นธรรมชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้
2. ประเพณีทอดกฐิน ถือเป็นกาลทาน ที่เป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง โดยมีระยะเวลา 1 เดือน หลังจากวันออกพรรษาคือวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 
ประเพณีทอดกฐินมีระยะเวลา 1 เดือน หลังจากวันออกพรรษานอกจากประเพณีที่ถือปฏิบัติในวันออกพรรษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมและมีผู้สนใจไปร่วมกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง คือ การชมบั้งไฟพญานาคซึ่งเกิดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้นคือวันออกพรรษา ซึ่งจะมีพุทธศาสนิกชนไปรอชมบั้งไฟกันทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะอำเภอโพนพิสัยที่มีปริมาณบั้งไฟขึ้นเยอะกว่าที่อื่นๆ
                                                        

                                                                                     



















วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันปิยมหาราช


วันปิยมหาราช

                         


ความเป็นมาของ วันปิยมหาราช

          เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า 

                                


          ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า "วันปิยมหาราช" และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ



                               


          เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น "กรุงเทพมหานคร" ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็น "สำนักพระราชวัง" ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติฉัตร 5 ชั้น ประดับโคมไฟ ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

                         
                                 
          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันปิยมหาราช ครั้งแรกเกิดขึ้นถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์ 

  พระราชประวัติ 
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ" ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมขุนพินิตประชานาถ" บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"
 เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช



                                

         
ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

          ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

          เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน
 


                               
        
  ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี 


                                    


                             



                              



                               





เทศกาลกินเจ


กินเจ 2555 ตำนาน เทศกาลกินเจ ประเพณีกินเจ เริ่มต้นตั้งแต่ วันที่ 15 ตุลาคม -23 ตุลาคม 2555

        ความหมายของ 'เจ'
        'เจ' ในภาษาจีนมีความหมายว่า 'อุโบสถ' เป็นคำแปลทางพุทธสาสนา นิกายมหายาน การกินเจนั้นแต่เดิมหมายความถึง 'การรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน' ตามแบบอย่างของพระพุทธศาสนา เราจะเห็นตัวอย่างชาวพุทธรักษาอุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 ด้วยการไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงไปแล้วเช่นเดียวกับพระภิกษุ แต่สำหรับพุทธนิกายมหายานนั้น การรักษาอุโบสถศีลจะรวมถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ด้วย จึงนิยมเรียกการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกับการกินเจ จนถึงปัจจุบัน ผู้ที่รับประทานอาหารครบ 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ยังเรียกว่า 'กินเจ' ความหมายของการกินเจ จึงหมายถึงการรักษาศีล ปฏิบัติธรรมทั้งกาย วาจา และใจ ไม่ใช่หมายความเพียงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น การปฏิบัติธรรมร่วมไปด้วยจึงจะครบเป็น 'การถือศีล-กินเจ' อย่างแท้จริง 


                           เทศกาลกินเจ 


           เริ่มต้นเข้าสู่เทศกาลถือศีลกินผักกันแล้วนะคะสาวๆ และสำหรับเทศกาลนี้แน่นอนว่าจังหวัดภูเก็ตของเราก็ดูจะคึกคักกันเป็นพิเศษเหมือนทุกๆ ปี เพราะ เทศกาลนี้คนภูเก็ตบ้านเราได้ปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมายาวนาน จนปัจจุบันถือได้ว่า เทศกาลกินเจของจังหวัดภูเก็ต เป็นจุดขายอย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบ Unseen ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ 

สำหรับการทานเจตามหลักประเพณีนั้น หมายถึง การละเว้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ประกอบกับการถือศีล บำเพ็ญบุญ นุ่งขาวห่มขาวสำรวมกายวาจาใจ ฉะนั้น นอกจากผู้ทานเจจะได้อิ่มบุญจากการสร้างกุศลครั้งใหญ่นี้แล้ว ยังถือเป็นโอกาสอันดีของการ detox ล้างสารพิษในร่างกายด้วยการรับประทานอาหารจำพวกพืชผักธรรมชาติตลอดช่วงเทศกาลด้วย ซึ่งว่ากันว่า ผู้ที่พร้อมใจเข้าร่วมประเพณีถือศีลกินผักนั้น จะมีหน้าตาและผิวพรรณที่ผุดผ่อง นั่นก็เป็นเพราะ การที่เรามีจิตใจสงบ ประพฤติตนแต่สิ่งดีงาม พร้อมกับการรับประทานแต่อาหารที่ดี มีประโยชน์ ได้รับสารอาหารและวิตามินจากพืชผักที่รับประทานไปอย่างเต็มที่ ตรงกับคอนเซ็ปที่ว่า งดงามจากภายใน สวยใสสู่ภายนอก” ยังไงล่ะคะ 

แล้วการรับประทานอาหารเจ จะถือเป็นการ detox สารพิษในร่างกายได้อย่างไร 
การทานอาหารเจเพื่อรักษาสุขภาพ ชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ ละเว้นจากการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต การสำรวมกายวาจาใจ ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ให้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งกายใจ...จิตสะอาด กายสบาย อย่างนี้สิ ถึงจะเรียกได้ว่าทานเจแล้ว สวยใส ทั้งกายใจ อย่างแท้จริงค่ะ 
การทานอาหารเจเพื่อรักษาสุขภาพ ชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ ละเว้นจากการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต การสำรวมกายวาจาใจ ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ให้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งกายใจ...จิตสะอาด กายสบาย อย่างนี้สิ ถึงจะเรียกได้ว่าทานเจแล้ว สวยใส ทั้งกายใจ อย่างแท้จริงค่ะ 


อาหารเจ เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นมาจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ปราศจากเนื้อสัตว์ รวมทั้งไม่มีส่วนประกอบอื่นใดที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ทุกประเภท และเป็นอาหารที่ไม่มีที่มาจากเลือดและน้ำอสุจิ ซึ่งในทางสุขภาพของผู้ถือศีลกินผัก หรือผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ว่ากันว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แฝงไว้ด้วยพิษภัยมากมาย และอีกนัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการละเว้นจากการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ฉะนั้น อาหารเจ จึงเป็นอาหารที่ย่อยง่าย และมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่ต่ำ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการปรุงด้วย อีกทั้งการรับประทานอาหารเจส่วนใหญ่นั้น เน้นการบริโภคผักและโปรตีนตลอดช่วงเทศกาล เราจึงได้รับสารอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ วิตามิน และเส้นใยไฟเบอร์ ซึ่งจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายของเราทำงานได้ดี ระบบภายในของร่างกายก็จะขับของเสียออกมาได้ง่าย จึงถือได้ว่า ในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก เป็นการ detox สารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกายไปในตัว ส่งผลให้หน้าตา ผิวพรรณ ดูผุดผ่องขึ้นตามไปด้วย รวมถึงร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันโรคภัยที่ดี จากอานิสงค์ของการร่วมถือศีลกินผักในเทศกาลนี้